เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ในเวลางาน: เป็นคนตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้งานนั้นๆ สำเร็จได้อย่างราบรื่น (ท้อแท้บางในบางครั้ง), นอกเวลางาน: ง่ายๆ สบายๆ ชอบท่องเที่ยว ปาร์ตี้สังสรร เป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง อารมณ์ขัน ยิ้มเก่ง (โดยเฉพาะตอนเริ่มกึ้มๆ แล้วอ่ะ 555)

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เตือนภาษีที่ดิน ดาบ2คม รบ.ต้องรอบคอบ

Pic_22174

ดร.โกร่งชี้ กม.ภาษีที่ดินซึ่ง รมว.คลังเตรียมชง ครม.อาจเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากกว่าเป็นธรรม พร้อมสอนมวยหน้าที่ภาษี ด้านอดีตนายกฯ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยหวั่นคนซื้อบ้าน-อสังหาฯ แบกภาระพิ่ม...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้ นายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกรรวงการคลัง เตรียมเสนอหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหลัก การของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดินเดิมซึ่งมีมากกว่า 12 ฉบับให้ชัด เจนขึ้นจากที่แยกย่อยมากกว่า 34 อัตรา เหลืออยู่เพียง 3 อัตราเท่านั้น ประกอบด้วย

1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ มีเพดานการจัดเก็บไม่เกิน 0.5% เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างราคา 1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อปี

2. ภาษีที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ได้ใช้เชิงพาณิชย์ มีเพดานจัดเก็บไม่เกิน 0.1% เช่น ราคา 1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตราสูงสุด 1,000 บาท

3. ภาษีสำหรับที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บภาษีไม่เกิน 0.05% เช่น ราคาที่ดิน 1 ล้านบาท เสียภาษี 500 บาทต่อปี

สำหรับ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กำหนดให้ ต้องเสียภาษีไม่เกิน 0.5% โดยเก็บเป็นลักษณะภาษีก้าวหน้า โดยภายใน 3 ปีถัดไป หากไม่ทำประโยชน์อีก จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 2% ของฐานภาษีหรือราคาประเมิน

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้สร้างภาระกับประชาชนมากเกินไป และเผื่อเวลาให้กรมธนารักษ์ดำเนินการประเมินราคาที่ดินใหม่ทั่วประเทศ 30 ล้านแปลงให้เสร็จสิ้น เมื่อกฎหมายผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา กระทรวงการคลังก็ยังมีการตราบทเฉพาะกาลยกเว้นการบังคับใช้ไว้ก่อน 2 ปี ก่อนเริ่มใช้จริงในปีที่ 3

และเมื่อเริ่มบังคับใช้จริงในปีแรกยัง กำหนดข้อผ่อนปรนเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีที่ดินและโรงเรือนมา ก่อน หรือเสียเพิ่มจากที่เคยต้องเสียในช่วงก่อนหน้าให้เสียภาษีเพียง 50% ของภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มปีที่ 2 เพิ่มเป็นเสียภาษี 75% และปีที่ 3 เป็นต้นไปจึงจะเสียเต็มจำนวนหรือเสียภาษีเต็ม 100%

ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การนำเอาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็คือ ภาษีทรัพย์สินและมรดกมาใช้ภายใต้ข้อกำหนดที่เพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีขึ้น เป็นสิ่งที่น่าจะต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบด้าน การอธิบายเหตุผลว่า ภาษีนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ให้รัฐ ไม่ใช่เป็นรายได้ของรัฐบาลกลาง หากแต่ต้องการให้เป็นรายได้ของท้องถิ่นเอาไว้พัฒนาท้องถิ่นตน ที่สำคัญยังเป็นไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมนั้น อาจจะฟังดูดี แต่ในข้อเท็จจริง หากภาษีนั้นสร้างความยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บมาก หรือเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทุจริตได้ง่าย หรือทำให้คุ้มค่าที่จะเลี่ยง และหนีภาษี แทนที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างที่ตั้งใจ ก็อาจจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้มากขึ้นแทน

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวต่อว่า ยิ่งถ้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ทำให้ เกิดการเสียเปรียบในการแข่งขัน และทำลายประสิทธิภาพในการผลิต และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนทำลายแรงจูงใจในการออม ภาษีชนิดนี้ก็ไม่ควรมีการจัดเก็บ ยิ่งถ้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีการปรับปรุงทั้งฐานภาษี และอัตราภาษีให้สูงขึ้น ก็น่าจะสร้างปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งในด้านจุดมุ่งหมาย และในแง่ของการปฏิบัติ

"ภาษี ควรทำหน้าที่อย่างเดียว คือ สร้างรายได้เพื่อให้รัฐสามารถนำรายได้นั้นไปจัดการสร้างระบบสาธารณูปโภคแก่ ประชาชนในประเทศ หรือทำอย่างไรให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้คนไม่แตกต่างกันมาก ในสมัยที่สังคม นิยมกำลังพัดแรง หลายคนมีความคิดที่จะใช้ ภาษีอากรเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในด้านรายได้และ ทรัพย์สิน แต่ถึงวันนี้ ความคิดแบบเก่าเหล่านั้นเปลี่ยนไปแล้ว และสำคัญน้อยกว่าความแตกต่างทางด้านความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต" นายวีรพงษ์ กล่าว และว่า ผลของการจัดเก็บภาษีนี้ อาจจะทำให้มีผู้คนบางกลุ่มบางเหล่า ไม่มีความสามารถในการเสียภาษี เพราะผลตอบแทนของที่ดิน หรือทรัพย์สินมีอัตราต่ำกว่าภาษี ก็อาจจะถูกทางการฟ้องร้องบังคับขาย เพื่อนำเงินมาชำระภาษีได้

นัก เศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือ อัตราภาษีที่สูงเกินไป อาจจะทำให้คนในเมืองต้องแบ่งแยกกันอยู่ เป็นย่านคนรวย กับย่านคนจน เหมือนอย่างในต่างประเทศ หรือเมืองใหญ่ๆหลายแห่ง ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศอยากจะเลิก และก็ทยอยเลิกใช้กฎหมายแบบเดียวกันนี้ไปแล้วจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ภาษีที่ดิน ทรัพย์สิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่สูง อาจจะทำให้ราคาทรัพย์สิน หรือราคาอสังหาริมทรัพย์มีราคาลดลง เพราะอย่างที่บอก ถ้าเจ้าของที่ดิน ทรัพย์สิน หรือสิ่งปลูกสร้างไม่มีความสามารถในการเสียภาษี เนื่องจากผลตอบแทนในที่ดิน และทรัพย์สินนั้นๆ ต่ำกว่าอัตราภาษี เจ้าของก็จะต้องประกาศขายทรัพย์สินที่มีในมือออกไป ถ้าไม่รีบขาย รัฐก็อาจเข้ามายึด เมื่อเป็นเช่นนี้ ราคาย่อมต้องลดลง ปัญหายังมีอยู่ด้วยว่า ถ้าจะต้องใช้เจ้าพนักงานในการประเมินประเภทที่ดิน ขนาดของที่ดิน และการใช้ประโยชน์ ของที่ดินแล้วล่ะก็ โอกาสที่เจ้าพนักงานจะมีความผิดพลาดทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ จะมีอยู่สูงมาก ทีนี้คนที่รับกรรมก็คือ ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน และทรัพย์สินนั้น

นายวีรพงษ์ยัง กล่าวด้วยว่า คนมีมรดกก็จำเป็นจะต้องสละมรดก เพราะเวลาที่พ่อแม่ตาย ทรัพย์สินต่างๆ ที่พ่อแม่ทิ้งไว้ จะต้องมาตีมูลค่าทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีให้แก่รัฐ ทีนี้ ถ้าพ่อแม่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีที่ทำกันมาจากครัวเรือนหลายชั่วอายุคน บรรดาลูกๆหลานๆที่รับมรดกหรือมีสิทธิได้รับมรดกตกทอดก็ต้องขายออกไป แล้วไปเป็นลูกจ้างเขาดีกว่า อย่างที่กล่าวไว้ว่า เมื่อมีการขายทรัพย์สิน หรือที่ดินออกมา ราคาก็จะต้องลดลง บางคนอาจจะมองว่าเป็นของดี แต่หลายคนก็มองว่า ไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันการเงินในระบบทุนนิยมเสรี เพราะจะทำให้หลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินด้อยค่าลงไป

"คน ที่เคยเชื่อมั่นในที่ดินว่าเป็นทรัพย์สินที่คุ้มค่าในการลงทุน จะเจ๊งกันเป็นแถว ทุกคนในระบบทุนสามานย์ที่เป็นที่น่ารังเกียจนี่แหละ จะเจ๊งกันหมด ไม่มีใครเหลือรอด เพราะภาษีนี้" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าว

นาย วีรพงษ์ กล่าวต่อว่า ความคิดในการพิจารณาเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์ และภาษีมรดกนี้ มีมานานแล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียทุกด้านแล้ว รัฐบาลในยุคที่ผ่านมา จึงได้ออกกฎหมายเก็บภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในอัตราที่ค่อนข้าง สูงแทน อย่างไรก็ตาม ผู้ถืออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินบ้านช่อง คอนโดมิเนียม ถ้าไม่ขายไม่โอนกรรมสิทธิ์ ก็เสียภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนในกรณีให้เช่าไป แต่ถ้าขายก็จะต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในอัตราก้าวหน้า ยิ่งเป็นพวกที่ซื้อมาขายไป หรือถือครองกรรมสิทธิ์ในระยะเวลาสั้นๆ ก็เสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ผู้เสียภาษีก็ไม่เดือดร้อนว่าจะไม่มีเงินเสียภาษี เพราะไปเสียภาษีตอนที่ขาย ซึ่งได้เงินจากการขายอยู่แล้ว

นัก เศรษฐศาสตร์อาวุโส กล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการกับการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนให้มีประสิทธิภาพ และจัดเก็บอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รัฐ และท้องถิ่นก็จะมีรายได้จำนวนไม่น้อยในแต่ละปีนำไปพัฒนาประเทศให้ประชาชนมี คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีได้ ดูได้จากภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่เก็บจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้รัฐจะมีมาตรการลดอัตราภาษีให้ แต่รัฐก็จัดเก็บภาษีนี้ได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ภาษีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งนำมาใช้แทนการเก็บภาษีทรัพย์สิน หรือภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่กำลังพูดถึงกันอยู่ ซึ่งต้องจ่ายเป็นรายปีนี้ มีข้อดีก็คือ ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู จะมีการซื้อขายที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์กันมาก ภาษีก็เก็บได้มาก เท่ากับเป็นการดึงเศรษฐกิจไว้ไม่ให้ร้อนแรง ตรงกันข้ามในขณะที่เศรษฐกิจซบเซา การซื้อขาย หรือการโอนกรรมสิทธิ์มีน้อย ภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์ก็น้อยลง ไม่เป็นการดึงให้เศรษฐกิจซบเซาลงไปอีก

นพ.สมเชาว์ ตัณฑเทอดธรรม อดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันคนไทยต้องซื้อที่อยู่อาศัยแพง อยู่แล้ว เพราะผู้ประกอบการต้องแบกรับภาษีในการทำธุรกิจบ้านจัดสรรและอาคารชุดประมาณ 20% ของราคา หากยังต้องแบกรับภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายปีนี้อีก จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ซื้อบ้านต้องรับภาระเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริษัท อนันดาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เห็นด้วยว่ากฎหมายจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้สังคมและเกิดการกระจายรายได้ ทำให้เจ้าของที่ดินหรือ "แลนด์ลอร์ด" ต้องหาทางใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนตึกร้าง ที่ดินรกร้างว่างเปล่าต่างๆ ที่ต่อไปจะถูกบีบบังคับให้มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่าง ไรก็ตาม ในส่วนของวิธีการจัดเก็บภาษีที่ดินนั้น มีความเป็นห่วงว่ารัฐจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม เพราะแม้ในหลักการจัดเก็บภาษีที่ดินจะจัดเก็บจากทุกคนเหมือนกันหมด แต่ก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาที่ผู้แบกรับภาระในชั้นสุดท้าย จะกลายเป็นผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ ในส่วนสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้แบกรับภาระ ใครจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะผลักภาระไปให้ลูกบ้านหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องพิจารณาให้ดี

นายสมบูรณ์ ฉายาวิจิตรศิลป์ ประธานกรรมการบริษัท สมหรรษา จำกัด ตั้งข้อสังเกตว่า การปรับระบบภาษีที่ดินให้ชัดเจนเริ่มทำตอนนี้ดีกว่าไม่ทำเลย เพราะจะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจมากขึ้น ทั้งในส่วนของคนที่เคยจ่าย และยังไม่เคยจ่ายภาษีมาก่อน แต่อาจจะไม่จำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าภาษีที่ดินใหม่ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนที่ดีขึ้น ในวงการอสังหาริมทรัพย์ มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และทำให้แนวโน้มราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียน การพัฒนาที่ดินมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจประเทศโดยรวมมากกว่า

ประธาน กรรมการบริษัท สมหรรษา กล่าวต่อว่า การประเมินราคาที่ดินทุกปีเพื่อเสียภาษีที่ดิน จะทำให้ แนวโน้มราคาที่ดินในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา รัฐต้องพิจารณาอัตราการเก็บภาษีที่ดินที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ราคาที่พุ่งขึ้นเร็วเกินไป ควรจะดูแลให้การปรับขึ้นเป็นไปตามการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ส่วนข้อเสียของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินใหม่ ทำให้คนที่ไม่เคยมีที่ดินมาก่อน ต้องซื้อบ้าน และที่ดินในราคาแพงขึ้น ขณะที่มีคนส่วนหนึ่งที่มีบ้าน มีที่ดิน ต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น แต่จุดนี้คงไม่ทำให้ยอดขายบ้านที่ดิน หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ลดลง เพราะคงไม่ใช่ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อ หรือไม่ซื้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น